ธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ระดับโลก 14 แห่งให้การสนับสนุนความพยายามเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี 2593

–  ในการหารือนอกรอบระหว่างงาน Climate Week ที่นครนิวยอร์ก บรรดาธนาคารรายใหญ่ ตัวแทนรัฐบาล และผู้บริหารในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้การยอมรับบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานทั่วโลก

–  พลังงานนิวเคลียร์ถูกรวมอยู่ในผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประเมินผลความคืบหน้าทั่วโลกครั้งแรกภายใต้ข้อตกลงปารีส

–  การปรับปรุงให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นสามารถช่วยปลดล็อกศักยภาพของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมาก เพื่อผลิตพลังงานและความร้อนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

นิวยอร์ก, 23 กันยายน 2567 /PRNewswire/ — วันนี้ ประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุน "ปฏิญญาเพื่อการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่า" (Declaration to Triple Nuclear Energy) ที่เปิดตัวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ในปี 2566 ได้เข้าร่วมกับสถาบันการเงิน 14 แห่งที่แสดงการสนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มความสามารถผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกเป็นสามเท่าภายในปี 2593

กลุ่มสถาบันการเงินที่เข้าร่วมในงานประชุมประกอบด้วย Abu Dhabi Commercial Bank, Ares Management, Bank of America, Barclays, BNP Paribas, Brookfield, Citi, Credit Agricole CIB, Goldman Sachs, Guggenheim Securities LLC, Morgan Stanley, Rothschild & Co., Segra Capital Management และ Societe Generale

สถาบันการเงินเหล่านี้ยอมรับว่าโครงการพลังงานนิวเคลียร์สำหรับพลเรือนทั่วโลกมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ พวกเขายังแสดงการสนับสนุนวัตถุประสงค์ระยะยาวในการเพิ่มการผลิตพลังงานนิวเคลียร์และการขยายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โดยรวม เพื่อเร่งการผลิตพลังงานสะอาดและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

งานนี้กล่าวเปิดงานโดย John Podesta ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ โดยจัดขึ้นที่ร็อคกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์ (Rockefeller Center) ในนครนิวยอร์ก โดยมีผู้นำระดับสูงของรัฐ รัฐมนตรี และผู้นำจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และการเงิน รวมถึงผู้บริหารอุตสาหกรรมหนักและที่ต้องใช้พลังงานสูงเข้าร่วม เพื่อให้การยอมรับบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนความพยายามระดับโลกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า

"ภารกิจร่วมกันของเรามีความชัดเจน นั่นคือ พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด และหากเราต้องการให้โลกของเราเป็นสถานที่น่าอยู่ สร้างห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาดที่มั่นคงและยั่งยืน และเสริมสร้างให้เกิดความมั่งคั่งทั่วโลก เราก็จำเป็นต้องให้พลังงานนิวเคลียร์เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้" John Podesta ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศกล่าว "ผมรู้ว่าเราทำให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ หากเราร่วมมือกันทำงาน"

ตลาดทุนและการเงินสามารถมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขยายโครงการพลังงานนิวเคลียร์ให้เติบโตทั่วโลก โดยสถาบันการเงินสามารถมอบประสบการณ์ เครือข่ายระดับโลก บริการ และโซลูชันต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ได้

การแสดงการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ครั้งนี้ต่อยอดมาจากผลลัพธ์ของการประเมินผลความคืบหน้าทั่วโลกครั้งแรกภายใต้ข้อตกลงปารีส ในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งได้รวมพลังงานนิวเคลียร์ไว้ในหมวดเทคโนโลยีที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนและปล่อยในระดับต่ำที่รัฐภาคีควรเร่งดำเนินการ เช่นเดียวกับปฏิญญาเพื่อการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่า ซึ่งเปิดตัวที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 และได้รับการสนับสนุนจาก 25 ประเทศ

"ปัญหาที่เหลืออยู่ให้แก้ไขก็คือด้านการเงินและต้นทุนทางการเงิน" ดร. Robert Golob นายกรัฐมนตรีสโลวีเนียกล่าว "ตลาดการเงินจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อให้พลังงานนิวเคลียร์สามารถแข่งขันกับแหล่งพลังงานที่ปลอดคาร์บอนอื่น ๆ ได้"

"ถึงเวลาที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อขยายเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น" Ebba Busch รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรีของสวีเดนกล่าว "รัฐบาลสวีเดนกำลังสำรวจรูปแบบการจัดหาเงินทุนที่เสนอ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ที่รัฐบาลสนับสนุน สัญญาการซื้อขายส่วนต่าง (Contracts-for-Difference: CfDs) และกลไกการแบ่งปันความเสี่ยง โดยเป้าหมายของข้อเสนอนี้ คือเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ในสวีเดนให้มีประสิทธิภาพขึ้น และสิ่งนี้ก็เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น"

"พลังงานนิวเคลียร์ใหม่ทั้งสะอาดและปลอดภัย และที่สำคัญกว่านั้นคือได้รับการพิสูจน์แล้ว โดยมีหลายประเทศที่ในปัจจุบันใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิชชั่นรุ่นที่สามและสี่ที่ ‘มีความสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์’ และเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง" James Schaefer กรรมการผู้จัดการอาวุโสของ Guggenheim Securities กล่าว "สิ่งสำคัญคือ เราต้องเร่งความคืบหน้าของโครงการที่วางแผนไว้ให้กลายเป็นโรงงานที่สร้างขึ้นและใช้งานจริง เนื่องจากความต้องการมหาศาลที่มีต่อศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยจะต้องใช้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัทนิวเคลียร์ เจ้าของโรงไฟฟ้า บริษัทเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูล พร้อมทั้งธนาคารและสถาบันการเงิน"

ในปฏิญญาฉบับนี้ ประเทศเหล่านี้ตระหนักถึงความสำคัญของการระดมเงินทุนและการลงทุนสำหรับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อช่วยไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในนโยบายภูมิอากาศระดับโลก และกระตุ้นให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

"การรวมพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นเทคโนโลยีปลอดคาร์บอนควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนของโลก และรับรองว่าผู้ผลิตอุตสาหกรรมหนักเช่น Nucor จะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และสะอาด เพื่อให้สามารถเติบโต ประสบความสำเร็จ และสร้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงได้อย่างต่อเนื่อง" Benjamin M. Pickett รองประธานและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายกิจการสาธารณะและรัฐบาลสัมพันธ์ของ Nucor Corporation กล่าว

"นับตั้งแต่งาน COP 28 ที่จัดในดูไบเมื่อปีที่แล้ว เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านแรงกระตุ้นอย่างชัดเจนทั่วทั้งภาคพลังงานนิวเคลียร์ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับศูนย์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจนี้เพียงอย่างเดียวจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2569" Mohamed Al Hammadi กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Emirates Nuclear Energy Corporation กล่าว "ด้วยการสนับสนุนจาก 14 ธนาคารและสถาบันการเงินระดับโลกช่วงเช้าวันนี้ ในการหารือนอกรอบระหว่างงาน Climate Week ที่นครนิวยอร์ก จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานเท่านั้น แต่ยังตรงตามลักษณะของการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนและเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้เราได้เห็นว่ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งถูกสร้างขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาด และส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นเส้นทางที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและมีศักยภาพทางการเงิน เพื่อไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานและการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปพร้อมกัน"

ประเทศทั้ง 25 แห่งที่สนับสนุนปฏิญญาเพื่อการเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่า ได้แก่ อาร์เมเนีย บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส กานา ฮังการี จาเมกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มอลโดวา มองโกเลีย โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สวีเดน ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

Source : ธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ระดับโลก 14 แห่งให้การสนับสนุนความพยายามเพิ่มพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี 2593

This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network

Share

Latest Updates

Most Viewed

Related Articles