ริยาด, ซาอุดีอาระเบีย, 8 ธันวาคม 2567 /PRNewswire/ — บทบาทของการกำกับดูแลในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และนานาชาติ ในการจัดการปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง และการแปรสภาพเป็นทะเลทรายนั้น ได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญในวันธรรมาภิบาล (Governance Day) ในการประชุม COP16 ณ กรุงริยาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้มีการจัดกิจกรรมสำคัญมากมาย เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน รวมถึงการขาดแคลนน้ำ และการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ตลอดจนการส่งเสริมสิทธิในที่ดินของสตรีและการเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบท
ความคืบหน้านี้มีขึ้นพร้อมกับการเปิดตัวแผนปฏิบัติการริยาด (Riyadh Action Agenda) ซึ่งเป็นแผนริเริ่มสำคัญภายใต้การเป็นประธาน UNCCD COP16 ของซาอุดีอาระเบีย โดยระดมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อเพิ่มเงินทุนในการฟื้นฟูที่ดินและสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยแล้ง รวมทั้งผลักดันความก้าวหน้าที่วัดผลได้ตามเป้าหมายของ UNCCD ในการฟื้นฟูที่ดินให้ได้ 1.5 พันล้านเฮกตาร์ภายในปี 2573 แผนปฏิบัติการริยาดได้คืบหน้าอย่างต่อเนื่องในวันธรรมาภิบาล โดยมีการประกาศเชิญชวนให้รัฐบาลในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ร่วมพัฒนาแผนแม่บทในการจัดการปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง และการแปรสภาพเป็นทะเลทราย
ในขณะเดียวกัน การประชุมนายกเทศมนตรี (Mayors Forum) ซึ่งมีนายกเทศมนตรีทั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่และอดีตนายกเทศมนตรี ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมงานนี้ มุ่งยกระดับบทบาทของรัฐบาลในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และภัยแล้ง โดยผู้เข้าร่วมประชุมเรียกร้องให้ยกระดับความร่วมมือและการสนับสนุนทางการเงินแบบครอบคลุม รวมถึงประเด็นนโยบายสำคัญอื่น ๆ
Uğur İbrahim Altay นายกเทศมนตรีเมืองคอนยา ประเทศตุรกี และประธานร่วมองค์กรเครือข่ายเมืองและรัฐบาลท้องถิ่น กล่าวว่า "การดำเนินการที่มีความหมายต้องใช้ทรัพยากรที่มีความหมาย ผมมาที่นี่ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน ประจำคณะทำงานเฉพาะกิจระดับโลกของรัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาค เพื่อเรียกร้องอย่างจริงจังให้ผู้นำในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดินและภัยแล้ง ผ่านกลไกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อภัยแล้งและการฟื้นฟูระบบนิเวศ พร้อมเปิดทางให้รัฐบาลระดับภูมิภาคทุกแห่งเข้าถึงได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มโลกใต้"
Walid Al-Akrish รองผู้ว่าการด้านโครงการของเทศบาลกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวปาฐกถาสำคัญว่า "เราต้องยอมรับว่าปัญหาท้าทายที่เราเผชิญอยู่ ทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง และวิธีการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืน ทำให้ที่ดินเสื่อมโทรมและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระดับที่น่าวิตก"
การขยายตัวของเมืองกำลังสร้างแรงกดดันต่อพื้นที่ห่างไกล ทรัพยากรน้ำ และอาหาร อีกทั้งยังเร่งให้ที่ดินเสื่อมโทรมเร็วขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า การเติบโตของพื้นที่เมืองจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่ง 68% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองภายในปี 2593 การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ชนบทโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา แนวโน้มนี้จะยิ่งเพิ่มความสำคัญของหน่วยงานระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากรเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากการประชุมนายกเทศมนตรีแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับกรอบการกำกับดูแลและเครื่องมือทางการเงิน ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตในชนบทกับผู้บริโภคในเมืองได้
ดร. Osama Faqeeha รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร และที่ปรึกษาประธาน UNCCD COP16 กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องกระจายการตัดสินใจสู่ท้องถิ่นเพื่อต่อสู้กับความเสื่อมโทรมของที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และภัยแล้ง รวมทั้งเสริมสร้างการประสานงานระหว่างประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้นกับผู้ผลิตในชนบท"
"แผนปฏิบัติการริยาดได้เริ่มดำเนินการแล้ว พร้อมระดมกำลังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญเพื่อเร่งการฟื้นฟูที่ดินและสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยแล้ง โดยจะรวบรวมผู้มีบทบาททั่วโลกทั้งภาครัฐและองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ให้ผู้คนทั่วโลก ทั้งในช่วงที่เหลือของการประชุม COP16 และในระยะยาว"
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียได้เปิดตัวแผนปฏิบัติการริยาด ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน องค์กรระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ ร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการประชุมนี้ ไม่ว่าจะด้วยการเข้าร่วมโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น Middles East Green Initiative, Africa Great Wall และ Riyadh Global Drought Resilience Partnership เพื่อผลักดันทั่วโลกให้ลงมือแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และภัยแล้ง หรือริเริ่มโครงการใหม่ ๆ
นับจนถึงปัจจุบัน การประชุม COP16 ที่ริยาดได้รับคำมั่นสนับสนุนเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทของสถาบันการเงินและภาคเอกชนในการต่อสู้กับความเสื่อมโทรมของที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และภัยแล้ง พร้อมทั้งได้เปิดตัวโครงการบุกเบิกสำคัญอย่าง Riyadh Global Drought Resilience Partnership ด้วย
เกี่ยวกับการประชุม COP16 ที่รียาด
การประชุม UNCCD COP16 มีขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2567 ที่ Boulevard Riyadh World ประเทศซาอุดีอาระเบีย การประชุมภายใต้หัวข้อ Our Land. Our Future จะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของ UNCCD และมีเป้าหมายให้เกิดการดำเนินการพหุภาคีในประเด็นสำคัญ เช่น ความสามารถรับมือภัยแล้ง การถือครองที่ดิน และพายุทรายและฝุ่น
รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2575880/UNCCD_COP16_1.jpg?p=medium600
รูปภาพ – https://mma.prnasia.com/media2/2575881/UNCCD_COP16_2.jpg?p=medium600
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/2556588/5066276/UNCCD_COP16__Logo.jp?p=medium600g
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network