โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก, 15 ตุลาคม 2566 /PRNewswire/ — ผลการวิจัยใหม่ที่นำเสนอวันนี้ที่งานยูอีจี วีค (UEG Week) ประจำปี 2566 พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างน้ำหนักแรกเกิดกับการเกิดโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ไขมันพอกตับที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเมตาบอลิซึม (MASLD) ในกลุ่มคนหนุ่มสาว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีโอกาสเป็นโรค MASLD ในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่มากกว่าปกติถึง 4 เท่า
นักวิจัยได้ทำการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมกับประชากรที่มีอายุ 25 ปีหรือน้อยกว่า ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MASLD ระหว่างเดือนมกราคม 2535 ถึงเดือนเมษายน 2560 รวมทั้งสิ้น 165 ราย ผู้ที่มีโรค MASLD แต่ละรายจะถูกจับคู่กับกลุ่มควบคุมสูงสุด 5 รายจากประชากรทั่วไปที่มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของอายุ เพศ ปีปฏิทิน และเขตที่อยู่อาศัย
ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับน้ำหนักแรกเกิดน้อย (น้อยกว่า 2,500 กรัม หรือ 5 ปอนด์ 8 ออนซ์) มีโอกาสที่จะเกิดโรค MASLD มากกว่าผู้ที่เกิดมาพร้อมกับน้ำหนักแรกเกิดปกติถึง 4 เท่า ผู้ที่เกิดมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุครรภ์ (SGA) ซึ่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดโรค MASLD ตั้งแต่เนิ่น ๆ มากกว่าถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักแรกเกิดปกติ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10-90)
นอกจากนี้ นักวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุครรภ์ มีความเสี่ยงสูงกว่าถึง ~6 เท่าที่จะเกิดโรค MASLD ระยะรุนแรง ในรูปแบบของภาวะพังผืดของตับและภาวะตับแข็ง
ดร.ฟาฮีม เอบราฮิมี (Fahim Ebrahimi) ผู้นิพนธ์หลัก แสดงความเห็นว่า "แม้งานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำหนักแรกเกิดกับโรคที่สำคัญ แต่ความเชื่อมโยงกับ MASLD นั้นยังไม่ชัดเจน งานวิจัยของเรานำเสนอหลักฐานที่น่าสนใจว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเกิดโรค MASLD และโรคตับที่ลุกลาม"
เมื่ออัตราโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้น โรค MASLD กลายเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคตับเรื้อรังทั่วโลก โดยในยุโรปเพียงแห่งเดียวก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่มากกว่า 25% แล้ว และความชุกของโรคนี้ก็เพิ่มมากขึ้น
ดร.เอบราฮิมิ เสริมว่า "เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ผู้มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากโรค MASLD ที่เริ่มมีอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ มักดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดภาวะตับแข็งและโรคตับระยะสุดท้าย สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องพัฒนากลยุทธ์เชิงรุกที่มีประสิทธิภาพเพื่อระบุผู้ที่มีความเสี่ยงและช่วยลดภาระของโรคนี้"
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอสัมภาษณ์ กรุณาติดต่อ [email protected]
Source : ผลวิจัยใหม่ชี้ ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีโอกาสเป็นโรคไขมันพอกตับมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 4 เท่า
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network