CGTN: จีนสืบสานการเผยแพร่ชาและวัฒนธรรมชาบนเส้นทางสายไหม

ปักกิ่ง–16 ตุลาคม 2566–พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต

ไบรอล (Birol) ไกด์นำเที่ยวในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งพูดภาษาจีนได้ เปิดเผยว่า สำหรับเขาแล้ว ชาดำถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน อันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ไบรอลเท่านั้น แต่สำหรับครอบครัวชาวตุรกีทั่วไปแล้ว การเตรียมชาดำโดยใช้กาน้ำชาแบบพิเศษที่เรียกว่า "çaydanlık" ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว


ไบรอลเปิดเผยว่า ชาวตุรกีดื่มชาดำตั้งแต่มื้อเช้าไปจนถึงมื้อเย็น นอกจากนั้นชาดำยังเป็นเครื่องดื่มตามธรรมเนียมสำหรับการต้อนรับแขกและการจัดงานรื่นเริงอีกด้วย

ในประเทศตุรกีนั้น ชามีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าสองศตวรรษ และได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งหยั่งรากลึกในชีวิตประจำวันของผู้คน ปัจจุบัน ตุรกีเป็นหนึ่งในผู้บริโภคชาอันดับต้น ๆ ของโลก

นัยสำคัญดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อตุรกีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน ด้วยประเพณีการดื่มชาที่สืบสานมาแต่โบราณ ตุรกีมองว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้เปิดประตูสู่การยกระดับการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรม

นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อตุรกีแล้ว นับตั้งแต่จีนนำเสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อปี 2556 โครงการนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการระดมทรัพยากร เสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ และปลดล็อกโอกาสในการเติบโตมากมาย

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การค้าและการลงทุนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2556-2565 ยอดนำเข้าและส่งออกรวมระหว่างจีนกับประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีมูลค่าสูงถึง 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.4% จากรายงานสมุดปกขาวของสำนักสารสนเทศแห่งคณะมุขมนตรีจีน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม

ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 กว่า 80 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศได้รับรองข้อริเริ่มของจีนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าที่ไม่มีข้อจำกัดตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (China’s Initiative on Promoting Unimpeded Trade Cooperation Along the Belt and Road) นอกจากนี้ จีนได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี 21 ฉบับ ร่วมกับ 28 ประเทศและภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงทางการค้าภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ตลาดชาทั่วโลกเจริญรุ่งเรือง

การส่งออกชาของจีนเติบโตอย่างมั่นคงในปี 2565 โดยจีนส่งออกชารวม 375,300 ตัน เพิ่มขึ้น 1.59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการเปิดเผยของสำนักงานศุลกากรจีน

เมื่อแบ่งตามประเภทของชา จีนส่งออกชาเขียว 313,900 ตัน คิดเป็น 83.6% ของการส่งออกชาทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่การส่งออกชาดำและชาอู่หลงคิดเป็นสัดส่วน 8.9% และ 5.2% ตามลำดับ

ประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่างส่งออกชาเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ประเทศเคนยา ซึ่งส่งออกชา 1.4 ล้านกิโลกรัมมายังจีนในปี 2565 จากการรายงานของคณะกรรมการอุตสาหกรรมชาแห่งสมาคมส่งเสริมความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างประเทศของจีน

ในฐานะผู้ผลิตชารายใหญ่ เคนยาผลิตชาได้มากกว่า 450 ล้านกิโลกรัมต่อปี โดยอุตสาหกรรมชาคิดเป็นสัดส่วนราว 23% ของรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั้งหมดของเคนยา จากการรายงานของคณะกรรมการชาแห่งเคนยา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมชายังหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนชาวเคนยาราว 5 ล้านคนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในประเทศที่มีประชากรรวมทั้งสิ้น 53 ล้านคน

ในปีนี้ เคนยาคาดการณ์ว่ายอดส่งออกชาจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีการส่งออกชาดำออร์โธดอกซ์และชาดำเคนยาไปยังจีนเพิ่มมากขึ้น จากการรายงานของสำนักงานเกษตรและอาหารแห่งเคนยา

นอกเหนือจากชาแล้ว การค้าขายสินค้าอื่น ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศก็เฟื่องฟูเช่นเดียวกัน โดยได้รับอานิสงส์จากทางรถไฟขนาดมาตรฐานมอมบาซา-ไนโรบี (Mombasa-Nairobi Standard Gauge Railway) ที่เปิดให้บริการในปี 2560 ในฐานะผลสำเร็จแรก ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยรถไฟดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเทกองไปยังพื้นที่ห่างไกลอย่างราบรื่น ตลอดจนช่วยปรับปรุงโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน พร้อมมอบวิธีการขนส่งสินค้าเทกองที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุ้มทุน

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 การค้าผลิตภัณฑ์อาหารของจีน (รวมถึงชา) กับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีมูลค่าสูงถึง 5.5382 แสนล้านหยวน (7.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และพุ่งขึ้น 162% เมื่อเทียบกับปี 2556

ในปี 2565 การค้าผลิตภัณฑ์อาหารของจีนกับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีมูลค่าสูงถึง 7.8631 แสนล้านหยวน พุ่งขึ้น 135.3% เมื่อเทียบกับปี 2556 จากการรายงานของสำนักงานศุลกากรจีน

ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ จีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมากกว่า 200 ฉบับ ร่วมกับ 152 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 32 แห่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การค้าผลิตภัณฑ์อาหารมีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น

เส้นทางค้าชาโบราณ ส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมชา

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมชาของจีนมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการค้าตามเส้นทางโบราณต่าง ๆ เช่น เส้นทางค้าชา-ม้า (Tea Horse Road) ที่เริ่มต้นในมณฑลเสฉวนและยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คดเคี้ยวไปตามเชิงเขาฝั่งตะวันออกของเทือกเขาเหิงต้วน (Hengduan) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตชาของจีน ก่อนที่จะขยายไปยังอินเดียซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาหิมาลัย

อีกหนึ่งเส้นทางประวัติศาสตร์คือเส้นทางค้าชาโบราณที่มีต้นกำเนิดในเทือกเขาอู่อี้ (Wuyi) ในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และทอดยาวประมาณ 13,000 กิโลเมตร ประกอบด้วยเส้นทางการค้าและคาราวานที่ลดเลี้ยวไปมาในจีนไปจนถึงยุโรป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ชาจีนในต่างแดน

เส้นทางค้าชาโบราณสายนี้เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญซึ่งผสานการขนส่งทางน้ำและทางบกเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าชาและตอบสนองความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน รวมถึงรัสเซียและยุโรป จากการเปิดเผยของศาสตราจารย์หวง ไป่เฉวียน (Huang Baiquan) จากวิทยาลัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยหูเป่ย

ศาสตราจารย์หวงกล่าวว่า เส้นทางการค้าดังกล่าวครอบคลุมภูมิประเทศและสภาพอากาศที่หลากหลาย นับเป็นการผสมผสานกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้อย่างกลมกลืน และตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทาง

เส้นทางการค้าดังกล่าวมีความสอดคล้องกับเส้นทางภาคเหนือของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมของจีน และเป็นส่วนสำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ในหลายมิติระหว่างจีนตอนใต้และตอนเหนือ รัสเซีย และยุโรป

ศาสตราจารย์หวงกล่าวว่า ในกระบวนการปลูกชา รวมถึงการแปรรูป การขนส่ง การค้า และการบริโภคนั้น ประชาชนหลากเชื้อชาติและหลายประเทศตลอดเส้นทางค้าชาโบราณได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และสืบสานวัฒนธรรมชาที่มีชีวิตชีวาและหลากหลายจากรุ่นสู่รุ่น

https://news.cgtn.com/news/2023-10-14/Diffusion-of-tea-and-its-culture-along-the-Silk-Road-1nTdXYsPlYY/index.html

Source : CGTN: จีนสืบสานการเผยแพร่ชาและวัฒนธรรมชาบนเส้นทางสายไหม

This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network

Share

Latest Updates

Most Viewed

Related Articles