รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม เผยนักออกแบบไทยทำผลงานโดดเด่น

ไทเป–25 ตุลาคม 2566–พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต


Thai design works nominated for the Best Design Award. Top row, from left to right are Athita Hidden Court Chiang Saen Boutique Hotel, NANA Coffee Roasters Bangna and Angsila Oyster Scaffolding Pavilion. Bottom row, from left to right are Patamma, Field Work and Anona Farm Egg Box.

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด (Golden Pin Design Award) และโกลเดน พิน คอนเซปต์ ดีไซน์ อวอร์ด (Golden Pin Concept Design Award) ประจำปี 2566 ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design Award) โดยหลังจากที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นในรอบสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน ในที่สุดเวทีอันทรงเกียรตินี้ก็ได้ผลงานโดดเด่นทั้งสิ้น 72 ผลงานที่เตรียมเข้าชิงรางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด ขณะที่รางวัลโกลเดน พิน คอนเซปต์ ดีไซน์ อวอร์ด มีผลงานที่เข้ารอบชิงรวม 5 ผลงานด้วยกัน โดยผลงานการออกแบบจากฝีมือของผู้เข้าแข่งขันในหลากหลายภูมิภาค อาทิ ไต้หวัน จีน มาเก๊า ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลิทัวเนีย สหรัฐอเมริกา ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เตรียมเข้าร่วมชิงรางวัลเกียรติยศสูงสุดในพิธีประกาศรางวัลซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม ณ กรุงไทเป โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะที่ทำผลงานยอดเยี่ยมในงานนี้

นักออกแบบสัญชาติไทยทำผลงานโดดเด่นเป็นอย่างมากในปีนี้ โดยมีผลงานจากคนไทยถึง 30 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบสอง และในจำนวนนี้มี 6 ผลงานที่ผ่านเข้าไปชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมอันเป็นที่ปรารถนาของนักออกแบบทั่วโลก สำหรับสาขาการออกแบบเชิงพื้นที่ (Spatial Design) นั้น โครงการ "นานา คอฟฟี่ โรสเตอร์ส บางนา" (NANA Coffee Roasters Bangna) โดยบริษัท สถาปนิก ไอดิน จำกัด (IDIN Architects) ถือเป็นผู้ท้าชิงที่แข็งแกร่ง โดยเป็นโครงการพัฒนาคาเฟ่ของแบรนด์กาแฟชื่อดังในกรุงเทพฯ ด้วยการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมภายนอก พื้นที่ภายใน และภูมิทัศน์โดยรอบที่กลมกลืนกันอย่างไร้ที่ติ พร้อมมอบบรรยากาศที่เงียบสงบและร่มรื่น ช่วยกระตุ้นให้ผู้มาเยือนรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการดื่มด่ำกาแฟแก้วโปรด

ขณะเดียวกัน โครงการที่เปี่ยมด้วยแนวคิดสุดสร้างสรรค์อย่าง "กระชังหอยอ่างศิลา" (Angsila Oyster Scaffolding Pavilion) โดยบริษัท แชท อาร์คิเต็คส์ จำกัด (Chat Architects) ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการพลิกโฉมนี้มีจุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการประมงในชุมชนอ่างศิลา ด้วยการเปลี่ยนกระชังหอยไม้ไผ่แบบดั้งเดิมที่ปักหลักอยู่กลางทะเลให้กลายเป็นศาลาสองชั้นเหนือผิวน้ำ โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับเพาะเลี้ยงหอยนางรม ส่วนด้านบนเป็นศาลาที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับอาหารทะเลพร้อมกินลมชมบรรยากาศสวยงามโดยรอบ ศาลานี้ช่วยสร้างความสดใหม่ให้กับหมู่บ้านชาวประมงเก่าแก่ รวมถึงมอบโอกาสในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต ด้านผลงาน "โรงแรมอทิตา เดอะฮิดเด้นคอร์ท เชียงแสน บูทิค โฮเทล" (Athita Hidden Court Chiang Saen Boutique Hotel) โดยบริษัท สตูดิโอ มิติ จำกัด (Studio Miti) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมทางศาสนา ก็มีการออกแบบที่สลายช่องว่างระหว่างโครงสร้างแบบเก่าและแบบใหม่ได้อย่างชาญฉลาด โดยมีการเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้และอิฐ อีกทั้งยังเลือกใช้ช่างฝีมือท้องถิ่น ทำให้การออกแบบนั้นมีการผสมผสานองค์ประกอบร่วมสมัยเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม เกิดเป็นภาพอันงดงามของอดีตและปัจจุบันที่สอดประสานกันอย่างลงตัว ซึ่งเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้โดยไม่ทิ้งความก้าวหน้าของการพัฒนาเมือง

นอกจากนั้นยังมีโครงการ "ป่าทำมา" (Patamma) โดยบริษัท อินทิเกรเตท ฟิลด์ จำกัด (Integrated Field) ซึ่งเป็นรีสอร์ตแสนสวยในภาคเหนือที่ให้ความสำคัญกับการปลูกป่าเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมของที่นี่ถูกผสานเข้ากับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน โดยมีการออกแบบที่สะท้อนถึงภูมิประเทศของภาคเหนือที่มีความสูงต่ำสลับกันอันเกิดจากกระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำ องค์ประกอบโครงสร้างหลักของวิลล่าและร้านอาหารได้รับแรงบันดาลใจมาจากมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยเลือกใช้ผนังดินอัดที่ทำมาจากดิน ณ สถานที่นั้นเอง ขณะที่ผลงานศิลปะจัดวาง "ฟิลด์เวิร์ก" (Field Work) จากฝีมือของ ติงส์แมทเทอร์ ดีไซน์ สตูดิโอ (thingsmatter design studio) ที่สร้างขึ้นเพื่อเทศกาลออกแบบ "ถอดรหัสปัตตานี" (Pattani Decoded) ได้มีการจัดวางกระจกที่ปรับได้กว่า 600 บานเพื่อสะท้อนความสวยงามของนาเกลือ และปลุกความรู้สึกภาคภูมิใจในอุตสาหกรรมการผลิตเกลือแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นให้กลับคืนมาอีกครั้ง

สำหรับสาขาการออกแบบการสื่อสาร (Communication Design) นั้น โครงการ "กล่องไข่ อโณณา ฟาร์ม" (Anona Farm Egg Box) โดยบริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) (Starprint Public) ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอย่างสมศักดิ์ศรี โดยเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความยั่งยืน ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลได้ 100% นอกจากนี้ การออกแบบกราฟิกที่สะดุดตายังดูแปลกใหม่และน่าดึงดูดใจ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "กล่องไข่ก็เท่ได้เหมือนกัน"

รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด และโกลเดน พิน คอนเซปต์ ดีไซน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 มีการพิจารณาอย่างเข้มงวดทั้งหมดสามรอบด้วยกัน สามารถดูรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

สำหรับรายชื่อผู้ชนะรางวัลจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในพิธีมอบรางวัลที่หลายคนตั้งตารอคอย ในวันที่ 1 ธันวาคม ณ กรุงไทเป กรุณาติดตามเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (www.goldenpin.org.tw/en) และโซเชียลมีเดียเพื่อรับข้อมูลข่าวสารล่าสุด

Source : รางวัลโกลเดน พิน ดีไซน์ อวอร์ด ประจำปี 2566 ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม เผยนักออกแบบไทยทำผลงานโดดเด่น

This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network

Share

Latest Updates

Most Viewed

Related Articles