สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพเผย ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งเพิ่มขึ้นท่ามกลางการขาดแคลนอาหารและน้ำและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ลอนดอน, 1 พ.ย. 2566 /PRNewswire/ — สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) เปิดเผยรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (Ecological Threat Report) ประจำปี

 

การค้นพบที่สำคัญ

  • ภัยคุกคามทางระบบนิเวศ เช่น การเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงด้านแหล่งน้ำ และความไม่มั่นคงด้านอาหารจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่และความขัดแย้ง
  • หากความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้น 25% ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้น 36%
  • ในทำนองเดียวกัน หากจำนวนคนที่ไม่สามารถหาน้ำสะอาดดื่มได้เพิ่มขึ้น 25% โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็เพิ่มขึ้น 18%
  • ปัจจุบัน ผู้คน 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ใน 42 ประเทศที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารขั้นรุนแรง
  • 1 ใน 4 ของประชากรโลกไม่สามารถหาน้ำสะอาดดื่มเป็นประจำได้อย่างปลอดภัย
  • ภายในปี 2593 ผู้คน 2.8 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรง เทียบกับ 1.8 พันล้านคนในปัจจุบัน
  • มากกว่า 60% ของอภิมหานครทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และอยู่ในประเทศที่มีความรุนแรงหรือความขัดแย้งในระดับสูง อภิมหานครเหล่านี้ขาดทรัพยากรทางการเงินเพื่อรองรับการเติบโตของประชากร

รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (ETR) วิเคราะห์ภัยคุกคามทางนิเวศทั่วโลก เพื่อประเมินว่าประเทศและพื้นที่ระดับส่วนภูมิภาคใดบ้างที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากวิกฤติความขัดแย้ง ความไม่สงบ และการพลัดถิ่นที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ รายงานครอบคลุมถึงประเทศและดินแดนเอกราช  221 แห่ง แบ่งออกเป็นพื้นที่ย่อย 3,594 แห่ง

การค้นพบหลักจากรายงาน ETR ตอกย้ำให้เห็นว่า หากเราไม่ร่วมมือกันปัญหา ระดับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในปัจจุบันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่บานปลาย และกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ และเป็นแรงบังคับให้เกิดการย้ายถิ่นมากขึ้น

จำนวนประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรงและความยืดหยุ่นทางสังคมต่ำเพิ่มขึ้นอีก 3 ประเทศ เป็น 30 ประเทศในปีที่แล้ว "ประเทศโซนสีแดง" เหล่านี้มีประชากรอาศัยอยู่ 1.1 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 332 ล้านคน(1) ต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้นทั่วโลกยิ่งเพิ่มภาระให้แก่ประเทศเหล่านี้ที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอยู่แล้ว

ประเทศโซนสีแดง

มีอีกสามประเทศกลายเป็น "ประเทศโซนสีแดง" ได้แก่ ไนเจอร์ เอธิโอเปีย และเมียนมา โดยประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์จากการเผชิญภัยคุกคามทางนิเวศเพิ่มมากขึ้น ความยืดหยุ่นทางสังคมลดลง และความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น แต่ละประเทศประสบปัญหาความอดอยากและความรุนแรงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เช่น เอธิโอเปียมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ไนเจอร์มีการทำรัฐประหารโดยกองทัพ และเมียนมาก็มีความรุนแรงหลังรัฐประหารในปี 2564

ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและความขัดแย้งมีความเชื่อมโยงกันเป็นวัฏจักร โดยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรนำไปสู่ความขัดแย้ง และความขัดแย้งก็นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ซาเฮล ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยซาเฮลมีความบกพร่องขนานใหญ่ในด้านการปกครอง หลักนิติธรรม ความยากจนในระดับสูง และสภาพอากาศแปรปรวนในระยะเวลาสั้น ๆ

ความขัดแย้งมักลุกลามจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคเป็นอย่างน้อย(2) ปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 108 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่น ซึ่งเพิ่มขึ้น 24% ตั้งแต่ปี 2563 ประมาณ 30% ของการพลัดถิ่นทั้งหมดเคลื่อนตัวออกนอกประเทศบ้านเกิดมากกว่า 500 กิโลเมตร คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในยุโรปมาจากประเทศที่ระบบนิเวศถูกคุกคามและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง(6) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 29% ของการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในยุโรปมาจากซีเรีย และ 9% มาจากอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นทั้งสองแห่งนี้เป็นประเทศในโซนสีแดง

จากแนวโน้มในปัจจุบัน หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ประมาณการของ IEP แสดงให้เห็นว่าภายในปี 2593 ผู้คน 2.8 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในประเทศที่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรง เทียบกับ 1.8 พันล้านคนในปี 2566

ปัญหาความขัดแย้ง การขาดแคลนอาหารและน้ำ

ความไม่มั่นคงด้านอาหารเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำโดยตรง ETR ประมาณการว่า หากความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้น 25% ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งก็จะเพิ่มขึ้น 36% ในทำนองเดียวกัน หากความเสี่ยงด้านน้ำเพิ่มขึ้น 25% โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็เพิ่มขึ้น 18% พื้นที่ที่มีประวัติความขัดแย้งกันมาก่อนและขาดสถาบันที่เข้มแข็งถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด

ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 33% ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งยิ่งเพิ่มความเดือดร้อนต่อกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ปัจจุบัน 42 ประเทศเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง โดยผู้คนเกือบสี่พันล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความไม่มั่นคงด้านอาหารสูงหรือรุนแรง ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา

ปัจจุบันผู้คนสองพันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่สามารถหาน้ำสะอาดดื่มได้อย่างปลอดภัย ภายในปี 2583 ภูมิภาค MENA (ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) จะมีปัญหาขาดแคลนน้ำคล้ายกับพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮารา ขณะนี้ 8 จาก 12 ประเทศในรัสเซียและภูมิภาคยูเรเซียกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านน้ำที่สำคัญเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนต่ำและทอพอโลยีของพื้นที่เหล่านี้

เทรนด์เหล่านี้คาดว่าจะเลวร้ายลง โดยมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 1.5°C ในช่วงศตวรรษที่ 21 ทำให้ยากต่อการรักษาอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 2°C ผลที่ตามมาคือ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นและเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง(3)

ภัยธรรมชาติ ประชากร และความขัดแย้ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ภัยแล้ง, น้ำท่วม, ไซโคลน และพายุเลวร้ายยิ่งขึ้น ประเทศที่มีระดับความยืดหยุ่นและสันติภาพต่ำมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเจ็ดเท่าของประเทศที่มีระดับดังกล่าวสูง ด้วยเหตุนี้ในปี 2565 กองทุนรับมือเหตุฉุกเฉินส่วนกลางของ UN (CERF) จึงได้จัดสรรงบประมาณ 35% เพื่อจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจาก 17% ในทศวรรษที่แล้ว

แรงกดดันด้านประชากรศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดภาระหนักต่อทรัพยากรสาธารณะและความยืดหยุ่นทางสังคมโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรในพื้นที่แอฟริกาใต้สะฮาราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมากกว่า 60% ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อแหล่งอาหารและน้ำที่มีอยู่ นอกจากนี้ ภายในปี 2593 เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีในพื้นที่นี้จะมีจำนวนมากกว่าประชากรทั้งหมดของยุโรป แสดงให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงในการกระจายตัวของประชากรทั่วโลก

สตีฟ คิลเลเลีย (Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ IEP กล่าวว่า

"ในขณะที่เราเข้าใกล้การประชุม COP28 เข้ามาทุกขณะ รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศฉบับนี้เป็นเครื่องเตือนใจในเวลาที่เหมาะสมว่า ผู้นำจำเป็นต้องลงมือ ลงทุน และสร้างความยืดหยุ่นสำหรับอนาคต ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างรุนแรงและขาดความยืดหยุ่นทางสังคมที่จำเป็นในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแต่จะทำให้ภัยคุกคามเหล่านี้เลวร้ายลงไปอีก

ประเทศที่มีสันติภาพเชิงบวก(4)ในระดับสูงย่อมมีความยืดหยุ่นทางสังคมในการแก้ปัญหาความท้าทายเหล่านี้ ในโลกที่เผชิญกับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ความขัดแย้ง และการถูกบังคับให้ย้ายถิ่นเพิ่มขึ้น ผู้นำทั่วโลกจำเป็นต้องลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เพิ่มขีดความสามารถที่สร้างความยืดหยุ่นเชิงบวก และขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ"

อภิมหานคร: มลภาวะและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

จำนวนอภิมหานคร(5) กำลังเพิ่มขึ้น และคาดว่าเมืองที่กลายเป็นอภิมหานครจะเพิ่มขึ้นจาก 33 เมืองเป็น 50 เมืองภายในปี 2593 ปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 267 ล้านคนอาศัยอยู่ในอภิมหานครต่าง ๆ ที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก อภิมหานครเหล่านี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่ขาดทรัพยากรทางการเงินในการรองรับการขยายตัว ส่งผลให้เกิดอาชญากรรม ความยากจน การจราจรติดขัด และมลภาวะเพิ่มมากขึ้น

ในแอฟริกา ทั้งไนจีเรียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกต่างมีเมืองหลายแห่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีรายได้ต่อหัวต่ำ โดย 60% จาก 50 อภิมหานครที่คาดไว้ดังกล่าวจะอยู่ในประเทศที่อยู่ในครึ่งล่างของดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index: GPI)

ผู้ลี้ภัยมากกว่า 60% และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 80% จะย้ายไปอาศัยอยู่ในเมือง ภายในปี 2593 70% ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง โดยการเติบโตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำและมีระดับความรุนแรงสูง ตัวอย่างของเมืองลักษณะนี้ได้แก่ กินชาซา, เลกอส, ธากา และการาจี

ความขัดแย้งและเศรษฐกิจสีเขียว

ประเทศที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างหนักจะเผชิญความยากลำบากโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสีเขียว ตัวอย่างเช่น ดีอาร์คองโก, ลิเบีย, อิรัก, แองโกลา และติมอร์-เลสเต มีสัดส่วนมากกว่า 25% ของ GDP มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ประเทศเหล่านี้มีความท้าทายทางระบบนิเวศอย่างหนักและมีความยืดหยุ่นทางสังคมต่ำ จน GDP ของประเทศเหล่านี้อาจลดลงมากถึง 60% ในช่วงปี 2573-2583

เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ economicsandpeace.org และ visionofhumanity.org

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ

(1) ประเทศโซนสีแดงในปี 2566 ได้แก่

บุรุนดี

แคเมอรูน

ซิมบับเว 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

สาธารณรัฐแอฟริกากลาง

เฮติ

ชาด

อิรัก

กินี

อิเควทอเรียลกินี

ลิเบีย

ไนเจอร์

เอริเทรีย

มาลี

สาธารณรัฐคองโก

เอธิโอเปีย

มอริเตเนีย

โซมาเลีย

กินีบิสเซา

เมียนมา

ซูดานใต้

ซูดาน

ไนจีเรีย

อัฟกานิสถาน

ยูกันดา

เกาหลีเหนือ

(2) รายงานดัชนีสันติภาพโลก 2566 (Global Peace Index 2023)

(3) IPCC, 2023: Climate Change 2023: Synthesis Report. Contribution of Working Groups I, II and III to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [Core Writing Team, H. Lee and J. Romero (eds.)]. IPCC, Geneva, Switzerland, p71

(4) สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) หมายถึงทัศนคติ ธรรมเนียม และโครงสร้างที่ช่วยสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม ดูแหล่งที่มาได้ที่ visionofhumanity.org/wp-content/uploads/2023/05/Positive-Peace-2023-briefing.pdf

(5) เมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน

(6) รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ ปี 2564

เกี่ยวกับรายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศ (ETR)

รายงานภัยคุกคามทางระบบนิเวศฉบับที่สี่ เป็นการสำรวจดินแดนและรัฐเอกราช 228 แห่งทั่วโลก รายงานฉบับนี้มีความพิเศษตรงที่ใช้แนวทางแมชชีนเลิร์นนิงในหลายแง่มุมเพื่อผนวกการวัดความยืดหยุ่นกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต

วิธีการจัดทำรายงาน

รายงาน ETR ประกอบด้วยผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ล่าสุดและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั้งในส่วนของการเติบโตของประชากร การขาดแคลนน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานยังใช้ Positive Peace Framework ของ IEP ในการระบุประเทศที่มีความยืดหยุ่นไม่มากพอที่จะปรับตัวหรือรับมือกับผลกระทบเหล่านี้ในอนาคต รายงานนี้รวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก, สถาบันทรัพยากรโลก, องค์การอาหารและการเกษตร, สหประชาชาติ, คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ศูนย์เฝ้าติดตามการผลัดถิ่นภายใน, คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์, บรัสเซลส์, นิวยอร์ก, เฮก เม็กซิโกซิตี และฮาราเร

โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/792052/IEP_Logo.jpg?p=medium600

 

Source : สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพเผย ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งเพิ่มขึ้นท่ามกลางการขาดแคลนอาหารและน้ำและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network

Share

Latest Updates

Most Viewed

Related Articles