ปักกิ่ง–20 พฤศจิกายน 2566–พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาและลึกซึ้ง ณ คฤหาสน์ฟิโลลิ (Filoli Estate) ในนครซานฟรานซิสโก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยการประชุมสุดยอดที่ทั่วโลกตั้งตารอคอยเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากที่ผู้นำทั้งสองได้พบกันที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
ในระหว่างการพบกันครั้งนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศสร้างเสาหลัก 5 ประการด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี และยอมรับวิสัยทัศน์ใหม่ของซานฟรานซิสโกสำหรับอนาคต ในโอกาสนี้ เขาเน้นย้ำว่าจีนมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืนกับสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา หลักการที่ต้องยึดถือ และเส้นสีแดงที่ห้ามใครข้ามมา
จีนหวังว่าทั้งสองประเทศจะเป็นหุ้นส่วนที่เคารพซึ่งกันและกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งนี้ คุณเจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน ความร่วมมือ การเจรจา และการแก้ปัญหาร่วมกันนั้น "ชาญฉลาดและมีความสำคัญอย่างยิ่ง" จากการรายงานของซินหัว
ต้องยอมรับว่าทั้งสองประเทศยังคงมีข้อพิพาททางยุทธศาสตร์บางประการ โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นย้ำในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่า ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องร่วมกันจัดการกับข้อขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะปล่อยให้เป็นรอยแยกที่ทำให้ทั้งสองประเทศเหินห่างกัน
ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติที่สำคัญหลายประการในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ การร่วมกันต่อต้านยาเสพติด และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
การมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างสองชาติในประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการเจรจาและความเข้าใจระหว่างทั้งสองฝ่าย ตลอดจนลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้าอันเป็นผลมาจากความเข้าใจผิด
นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกอีกด้วย โดยในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เรียกร้องให้จีนและสหรัฐอเมริการ่วมกันแบกรับความรับผิดชอบในฐานะประเทศใหญ่ โดยเน้นย้ำว่าปัญหาที่สังคมมนุษย์เผชิญอยู่ไม่สามารถแก้ไขได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างประเทศใหญ่
ศาสตราจารย์ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) อดีตคณบดีวิทยาลัยรัฐศาสตร์เคนเนดีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เน้นย้ำว่าการแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากไม่มีประเทศใดสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามจากโรคระบาด หรือปัญหาข้ามชาติอื่น ๆ ได้เพียงลำพัง
จีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุด ต่างมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และผู้มีส่วนร่วมสำคัญในกลไกธรรมาภิบาลโลกในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก
จากบาหลีถึงซานฟรานซิสโก เรือใหญ่แห่งความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกา ได้แล่นผ่านแนวปะการังที่กั้นขวางและคลื่นลมแรง อย่างไรก็ดี นครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นสักขีพยานการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวจีนกับชาวอเมริกันมายาวนานนับศตวรรษ ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางสุดท้ายของการเดินทาง หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความสัมพันธระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
Source : CGTN: ซานฟรานซิสโก จุดเริ่มต้นใหม่ของความสัมพันธ์จีน-อเมริกา
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network