กรุงเทพฯ—30 พ.ย. 2566—พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต
เงินเฟ้อทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ทั้งยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต โดยผลการศึกษาล่าสุดจากมินเทล (Mintel) พบว่า คนไทย 48% เลื่อนหรือไม่ก็ยกเลิกแผนซื้อสินค้าราคาสูงเพราะสินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ 43% ซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับลดลง ส่วน 41% รับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง
ผลการศึกษาของมินเทลพบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการเก็บเงินและตอบสนองความต้องการของตน โดยผู้บริโภคครึ่งหนึ่ง (50%) มองว่าความสำเร็จทางการเงินคือความสามารถในการใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ และ 55% กันเงินไว้ใช้เพื่อจับจ่ายใช้สอยตามใจตัวเอง
คุณวิลาสิณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา (คุณไข่มุก) นักวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์อาวุโส มินเทล รีพอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า "จากข้อมูลที่พบในรายงานมินเทล เอแพค อีโคโนมิก แทร็กเกอร์ (Mintel APAC Economic Tracker) ปัญหาของแพงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อค่าครองชีพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ยังคงเป็นเรื่องที่คนไทย 75% มีความกังวล โดยแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาจัดการกับความกังวลนี้ได้ ด้วยการใช้ความคิดริเริ่มต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตามใจตัวเองได้ในค่าใช้จ่ายที่จำกัด เช่น ออกสินค้าขนาดเล็กลงในราคาที่เอื้อมถึง หรือนำเสนอช่องทางทางการเงินเพื่อให้ดูแลจัดการเรื่องการซื้อของได้ง่ายขึ้น"
คนไทยไม่ค่อยมีความมั่นใจทางการเงิน หลาย ๆ คนมีปัญหาในการทำความเข้าใจทางการเงิน
ผลการศึกษาของมินเทลพบว่า คนไทย 42% พบว่าศัพท์เฉพาะทางการเงินเป็นเรื่องเข้าใจยาก และมีเพียง 36% เท่านั้นที่รู้สึกมั่นใจในความรู้ทางการเงินของตนเอง โดยผู้บริโภคอายุ 18-24 ปีและผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมีระดับความเชื่อมั่นทางการเงินที่ต่ำกว่า (22% และ 18% ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุ 25-44 ปี ซึ่งมีเพียง 14% ของกลุ่มนี้ที่เผยว่า ‘ไม่มั่นใจ’ กับความรู้ทางการเงินของตน
คุณไข่มุก กล่าวว่า "สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีข้อมูลรองรับมากขึ้น"
ผลการศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่าคนไทย 46% ได้รับข้อมูลทางการเงินจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่าความรู้ทางการเงินเป็นที่เข้าถึงได้มากขึ้น โดยผู้บริโภคหันมามองหาช่องทางที่ตนเองสะดวกเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการเงินของตนเอง ซึ่งคุณไข่มุก ยังกล่าวว่า "แบรนด์ต่าง ๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของตนได้ ด้วยการสร้างเนื้อหาให้น่าเข้าหาและสื่อสารด้วยข้อความในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ"
คนไทยหาเงินใช้หนี้ได้ลำบาก
ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) เปิดเผยว่า ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ตามหลังเกาหลีใต้และฮ่องกง ขณะที่รายงานภาคอุตสาหกรรมยังระบุด้วยว่า นอกจากคนรุ่นใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากและหาเงินมาคืนลำบากแล้ว ผู้สูงอายุก็ยังเกษียณโดยที่ยังมีภาระหนี้สินจำนวนมากและไม่มีเงินเก็บ
สถานการณ์เกี่ยวกับหนี้สินเช่นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของมินเทล คนไทยหนึ่งในสี่ (23%) ยกให้การชำระหนี้บัตรเครดิตเป็นความท้าทายทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป (25%)
ในทำนองเดียวกัน การรับมือกับหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาถือเป็นปัญหาท้าทายในกลุ่มผู้บริโภคอายุ 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาต่อเป็นส่วนใหญ่ (24% เทียบกับ 20% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด)
คุณไข่มุก กล่าวสรุปว่า "สุขภาพทางการเงินมีบทบาทสำคัญในความเป็นอยู่โดยรวม โดยผลการศึกษาของเราพบว่า คนไทยกว่าสองในสาม (69%) ตระหนักถึงผลกระทบที่สุขภาพทางการเงินมีต่อสุขภาพกายและใจ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาระหนี้ ความไม่แน่นอนในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงิน และการไม่สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้ อาจทำให้รู้สึกทุกข์และไม่มีความสุขได้ โดยแบรนด์ต่าง ๆ สามารถวางตำแหน่งตนเองเป็นเพื่อนคู่คิดเพื่อช่วยผู้บริโภครับมือและเอาชนะปัญหาหนี้ได้ ด้วยการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน นำเสนอทางออกที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล หรือนำเสนอสินเชื่อที่เหมาะสม"
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network