การประชุมสุดยอดครั้งนี้เผยให้เห็นมุมมองที่หลากหลายของผู้นำทางความคิด นักนวัตกรรม และผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ที่มีต่อเอไอในด้านการศึกษา
โดฮา, กาตาร์, 30 พฤศจิกายน 2566 /PRNewswire/ — นีนา ชิค (Nina Schick) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเจเนอเรทีฟเอไอ (generative AI) และผู้ก่อตั้งบริษัททามัง เวนเจอร์ส (Tamang Ventures) กล่าวในการประชุมสุดยอดไวซ์ (WISE Summit) ครั้งที่ 11 ของมูลนิธิกาตาร์ ซึ่งได้ปิดฉากไปแล้วเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่า โลกเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนในวิวัฒนาการของมนุษย์ เนื่องจากเครื่องจักรกำลังจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา เปลี่ยนวิธีการทำงาน และแม้กระทั่งเปลี่ยนประสบการณ์ความหมายของการเป็นมนุษย์ไปอย่างลึกซึ้ง
คุณชิคกล่าวถึงอัตราการเติบโตแบบทวีคูณของขีดความสามารถของระบบเอไอโดยเน้นย้ำว่า "ในการปฏิวัติสู่ยุคใหม่ของระบบอัจฉริยะ ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์แบบพึ่งพากันและทำงานร่วมกันจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ไปโดยปริยาย"
ในมาสเตอร์คลาส "การคิดเชิงวิพากษ์ในยุคดิจิทัล: เอไอ, ความฉลาดรู้เรื่องสารสนเทศ และการต่อสู้กับข้อมูลที่บิดเบือน’ (Critical Thinking in the Digital Age: AI, Information Literacy, and the Battle Against Disinformation) ดร. มาร์ค โอเวน โจนส์ (Marc Owen Jones) รองศาสตราจารย์ภาควิชาตะวันออกกลางศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ (Hamad Bin Khalifa University) เจาะลึกถึงความท้าทายที่ระบบการศึกษาต้องเผชิญในการค้นหาและต่อสู้กับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อน และยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับการโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดจากเอไอ
การอภิปรายกลุ่มในหัวข้อ "เอไอเพื่อประโยชน์ส่วนรวม" (AI for Common Good) สำรวจผลกระทบจากการประยุกต์ใช้เอไอในด้านการวิจัย การศึกษา นโยบาย การกุศล และสื่อ เพื่อบ่มเพาะผู้นำและนักแก้ปัญหารุ่นต่อไป ฯพณฯ บูทาอินา บินต์ อาลี อัล ญะบัร อัล นูอามี (Buthaina bint Ali Al Jabr Al Nuaimi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอุดมศึกษา เน้นย้ำถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของกาตาร์ รวมถึงแผนการในอนาคตในการบูรณาการเอไอเข้ากับระบบการศึกษา
ฯพณฯ รัฐมนตรีฯ ระบุว่า "กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ริเริ่มการใช้หลักสูตรเอไอตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นมัธยมปลาย (K-12) ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสำหรับการทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับทักษะและเทคโนโลยีเอไอมากขึ้น"
ในระหว่างพิธีปิด คอนราด วุลแฟรม (Conrad Wolfram) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเดอะ วุลแฟรม กรุ๊ป (The Wolfram Group) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษว่าด้วยบทบาทสำคัญของความคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) ในยุคของเอไอ เขาสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์กับวิธีเชิงคำนวณเพื่อฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และทักษะความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การให้ความสำคัญในการใช้เครื่องมือเชิงคำนวณในระบบการศึกษาเพื่อแก้โจทย์ในโลกแห่งความเป็นจริง
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดตลอด 2 วันมีผู้เข้าร่วมเกือบ 7,000 ราย รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่น ตลอดจนผู้บุกเบิกหน้าใหม่ เพื่อจุดประกายการสนทนาที่มุ่งเน้นการนำเอไอมาใช้อย่างปลอดภัย มีจริยธรรม และมีประสิทธิผลในระบบการศึกษาทั่วโลก
ติดต่อ: [email protected].qa
โลโก้: https://mma.prnasia.com/media2/2287476/WISE_Logo.jpg?p=medium600
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network