มอนทรีออล, 15 กุมภาพันธ์ 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/
มิลา (Mila) สถาบันเอไอแห่งควิเบก (Quebec Artificial Intelligence Institute) ประกาศการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันในเมืองมอนทรีออล ระหว่างวันที่ 14 ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้หัวข้อ "การปกป้องสิทธิมนุษยชนในยุคแห่งเอไอ" (Protecting Human Rights in the Age of AI) โดยมีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำและพัฒนาความพยายามที่จำเป็นต่อการรวมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับกลไกการกำกับดูแลเอไอ
มิลาได้รวบรวมตัวแทนระดับสูงจากสหประชาชาติ (UN), องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก (UNESCO), สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE), สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งสหรัฐ (NIST), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International), สภายุโรป (Council of Europe) และองค์กรอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเข้าร่วมการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ครอบคลุมการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เครื่องมือและตัวชี้วัดในการประเมินความเสี่ยง และความพร้อมของกลไกการแก้ไข การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของตารางภารกิจอย่างเป็นทางการขององค์กรหลักระหว่างประเทศในการร่วมกันหาจุดเชื่อมระหว่างธรรมาภิบาลด้านเอไอและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ
ความพยายามในการกำกับดูแลด้านเอไอทั่วโลกได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลระดับชาติและองค์กรพหุภาคีส่วนใหญ่ได้กำหนดให้การกำกับดูแลด้านเอไอเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องเร่งจัดการ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านเอไอและสิทธิมนุษยชนยังคงแยกออกจากกัน ส่งผลให้จุดเชื่อมในสองประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีการทำความเข้าใจมากเพียงพอ
นอกเหนือจากการอภิปรายเป็นคณะร่วมกับผู้นำจากชุมชนนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้กำหนดนโยบายแล้ว การประชุมคณะทำงานยังรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเข้าร่วมหารือในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สร้างเวทีสำหรับข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะช่วยกำหนดรูปแบบอนาคตของการกำกับดูแลด้านเอไอระหว่างประเทศ
ดูรายละเอียดโปรแกรมฉบับเต็มและรายชื่อวิทยากรที่ได้รับการยืนยันแล้วที่นี่
ข้อความจากบุคคลสำคัญ
"มิลามีความภูมิใจที่ได้รวบรวมเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากองค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม อุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเอไอ เทคโนโลยีนี้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อสังคมของเรา เราจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสนอคำแนะนำที่เป็นรูปธรรมในการกำกับดูแลด้านเอไอระหว่างประเทศที่ครอบคลุมและมีความรับผิดชอบ" – คุณเบนจามิน พรูดอม (Benjamin Prud‘homme) รองประธานฝ่ายนโยบาย สังคม และกิจการระดับโลกของมิลา
"การประชุมด้านเอไอและสิทธิมนุษยชนที่จัดโดยมิลา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก เนื่องจากเรายังมีโอกาสพิเศษในปีนี้ในการประชุมสุดยอดอนาคตแห่งสหประชาชาติ (United Nations Summit of the Future) เพื่อกำหนดอนาคตด้านดิจิทัลของเรา เราต้องแน่ใจว่าเอไอจะถูกใช้งานเพื่อประโยชน์ระดับโลกและมีการจัดการกับความเสี่ยงผ่านการกำกับดูแลด้วยบรรทัดฐานสากล ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก" – คุณอามานดิพ ซิงห์ กิลล์ (Amandeep Singh Gill) รองเลขาธิการและผู้แทนด้านเทคโนโลยีประจำ สหประชาชาติ
"การเสวนาที่จัดโดยมิลาเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการบรรลุผลของโครงการริเริ่มเชิงนโยบายที่เด็ดขาดทั้งหมดในปี 2567 ทั้งนี้ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ที่ดี และการมีส่วนร่วม ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญต่ออนาคตโดยรวมของเราและเอไอ ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีบทบาททุกคนในห่วงโซ่คุณค่าด้านเอไอจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับโซลูชันที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และทำให้แน่ใจว่าเอไอนั้นมีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เราต้องรักษาและเดินหน้าการเรียนรู้ การพูดคุย และความไว้วางใจร่วมกันระหว่างนักเทคโนโลยีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม" – คุณคารีน เพอร์เซ็ต (Karine Perset) หัวหน้ากลุ่มสังเกตการณ์นโยบายด้านเอไอและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
เกี่ยวกับ มิลา
มิลา (Mila) ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์โยชัวร์ เบนจิโอ (Yoshua Bengio) จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เป็นสถาบันวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่รวบรวมไว้ซึ่งทีมนักวิจัยเฉพาะทางด้านจักรกลเรียนรู้กว่า 1,200 คน สถาบันตั้งอยู่ในเมืองมอนทรีออล มีภารกิจคือการเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมและการเติบโตด้านเอไอเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ มิลาเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกด้านการมีส่วนร่วมสำคัญในการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างแบบจำลองภาษา การแปลอัตโนมัติ การจดจำวัตถุ และแบบจำลองเจเนอเรทีฟ เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ mila.quebec
สื่อมวลชนติดต่อ: อีริก อาช (Eric Aach), [email protected], (514) 569-3594
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network