รายงานความมั่งคั่งประจำปี 2567 ชี้อเมริกายังคงเป็นศูนย์กลางความมั่งคั่งอันดับหนึ่งของโลก แต่อนาคตยังไม่แน่นอน

ลอนดอน, 19 มีนาคม 2567 /PRNewswire/ — แม้จะมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา ขณะที่ไบเดนและทรัมป์ใกล้จะได้ประจันหน้าช่วงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศกันอีกรอบในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการสร้างและสะสมความมั่งคั่งส่วนบุคคล โดยอเมริกามีความมั่งคั่งที่ลงทุนได้และมีสภาพคล่องคิดเป็นสัดส่วน 32% ของทั้งโลก หรือมากถึง 67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายงานความมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกาประจำปี 2567 (2024 USA Wealth Report) ที่เผยแพร่โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่งระดับโลกอย่างเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีเศรษฐีเงินล้านอยู่ 37% ของทั้งโลก ซึ่งก็คือบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (HNWI) ที่ถือครองสินทรัพย์ลงทุนที่มีสภาพคล่องมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจำนวนประมาณ 5.5 ล้านคน ตัวเลขนี้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 62% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แซงอัตราการเติบโตทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 38%

แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐอเมริกาจะใกล้เคียงกับมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีน แต่อเมริกานำเหนืออยู่มากในด้านความมั่งคั่งที่มีสภาพคล่อง (ตามจุดประสงค์ของรายงานฉบับนี้จึงรวมเฉพาะการถือครองในบริษัทจดทะเบียน เงินสด และการถือครองทรัพย์สินที่อยู่อาศัยแบบปลอดหนี้) ในทำนองเดียวกัน ความมั่งคั่งต่อหัวและจำนวนมหาเศรษฐีก็สูงกว่ามากเช่นกัน สหรัฐอเมริกามีเศรษฐีร้อยล้านอยู่ 9,850 คน ขณะที่จีนมี 2,352 คน และมีเศรษฐีพันล้านอยู่ 788 คน ส่วนจีนมี 305 คน โดยแม้จะมีเศรษฐีมากกว่า 862,000 คนอาศัยอยู่ในจีน แต่ความมั่งคั่งต่อหัวของจีนอยู่ที่เพียง 18,800 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 201,500 ดอลลาร์สหรัฐในอเมริกา ซึ่งอยู่ในอันดับ 6 ของโลกรองจากโมนาโก ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

แม้สหรัฐอเมริกาจะร่ำรวย แต่คุณเมห์ดี กาดิรี (Mehdi Kadiri) หัวหน้าฝ่ายอเมริกาเหนือของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส เปิดเผยว่าชาวอเมริกันที่ร่ำรวยหลายคนกำลังหาช่องทางขอสัญชาติเพิ่มหรือไม่ก็ขอสิทธิการพำนักในต่างประเทศ โดยกล่าวว่า "ชาวอเมริกันเป็นกลุ่มผู้สมัครกลุ่มใหญ่ที่สุดของเราในขณะนี้ และยังมีจำนวนมากกว่าสัญชาติอื่น ๆ ในปีที่แล้วด้วย เพราะความแตกแยกทางการเมืองและความตึงเครียดทางสังคมที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้นักลงทุน ผู้ประกอบการ และครอบครัวชาวอเมริกันที่ร่ำรวยหันมามองหาช่องทางป้องกันความเสี่ยง และแห่ทำเรื่องขอสัญชาติหรือสิทธิการพำนักในต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นที่ลดลงเกี่ยวกับแนวโน้มภายในประเทศ"

คุณมิชา เกลนนี (Misha Glenny) นักข่าวและนักเขียนระดับรางวัล ได้แสดงความคิดเห็นในรายงานความมั่งคั่งของสหรัฐอเมริกาประจำปี 2567 ว่า แม้มีประชากรโลกไม่ถึง 2% ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป แต่การตัดสินใจเลือกของพวกเขาจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อคนอีก 8 พันล้านคนทั่วโลก "สหรัฐอเมริกายังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลชี้ขาดในระดับโลก แต่ในทางการเมืองก็ดูไม่มีความแน่นอนมากนัก แม้เศรษฐกิจจะดูมีความแข็งแกร่ง แต่ประชาชนทั่วไปผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่มีเดิมพันสูงในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่างจับจ้องไปที่มาตรฐานการครองชีพที่ซบเซา ระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และสังคมที่มีการแบ่งขั้วในระดับที่น่าเป็นห่วง"

เมืองที่มั่งคั่งและแพงที่สุดในอเมริกา

นครนิวยอร์กยังคงรั้งตำแหน่งเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในสหรัฐอเมริกา (และทั่วโลก) ไว้อย่างเหนียวแน่น โดยมีเศรษฐีอยู่ 349,500 คน (ในจำนวนนี้เป็นเศรษฐีร้อยล้าน 744 คน และเป็นเศรษฐีพันล้าน 60 คน) รองลงมาคือย่านเบย์แอเรีย (305,700 คน), ลอสแอนเจลิส (212,100 คน), ชิคาโก (120,500 คน) และฮูสตัน (90,900 คน) ส่วนดัลลัส (68,600 คน) ซีแอตเทิล (54,200 คน) บอสตัน (42,900 คน) ไมอามี (35,300 คน) และออสติน (32,700 คน) ต่างก็ติด 10 อันดับแรกของปีนี้ โดยวอชิงตัน ดี.ซี. อยู่ในอันดับที่ 11 โดยมีเศรษฐี 28,300 คน

เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของความมั่งคั่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว ออสติน เมืองเอกของรัฐเท็กซัส มีการเติบโตมากที่สุด โดยมีจำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 110% ระหว่างปี 2556 ถึง 2566 ขณะที่เมืองสก็อตส์เดลในรัฐแอริโซนา และปาล์มบีชและเวสต์ปาล์มบีชในรัฐฟลอริดา ก็ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเศรษฐีเช่นกัน โดยมีจำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้น 102% และ 93% ตามลำดับ ส่วนเมืองกรีนิชและดาเรียนในแถบโกลด์โคสต์อันมั่งคั่งของรัฐคอนเนตทิคัต และย่านเบย์แอเรียในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ มีการเติบโตของความมั่งคั่งมากกว่า 80% ด้านเมืองไมอามี ดัลลัส ดี.ซี. ซีแอตเทิล และฮูสตันต่างก็มีเศรษฐีที่อาศัยอยู่เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% คุณแอนดรูว์ เอมอยล์ส (Andrew Amoils) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของนิวเวิลด์เวลธ์ กล่าวว่า "แหล่งความมั่งคั่งในอนาคตที่น่าจับตามองนั้นมีทั้งซอลต์เลกซิตี้ แทมปา และเนเปิลส์ โดยในทศวรรษหน้า เราคาดหวังได้ว่าเมืองเหล่านี้จะดึงดูดผู้อยู่อาศัยที่มีทรัพย์สินสุทธิสูงได้มากขึ้น"

เมื่อว่ากันในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดในอเมริกาแล้ว อันดับหนึ่งก็ยังคงตกเป็นของนิวยอร์ก โดยที่อะพาร์ตเมนต์ ‘ระดับดีเยี่ยม’ (200 ถึง 400 ตร.ม.) ในเมืองนี้มีราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรอยู่ที่ 28,400 ดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยลอสแอนเจลิส โดยที่อะพาร์ตเมนต์ที่หรูหราที่สุดมีราคาเฉลี่ย 17,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร ต่อมาคือปาล์มบีช (17,500 ดอลลาร์สหรัฐ) หาดไมอามี (17,200 ดอลลาร์สหรัฐ) และเบย์แอเรีย ซึ่งคุณอาจต้องจ่ายถึง 15,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร สำหรับยูนิตพักอาศัยระดับพรีเมียมในทำเลที่หรูหราที่สุด

ในแง่ความมั่งคั่งส่วนบุคคลไหลออกนั้น เฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ได้รับการสอบถามจากพลเมืองสหรัฐมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 (เพิ่มขึ้นถึง 500% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ทำให้สหรัฐเป็นสัญชาติที่มีการสมัครขอสิทธิพำนักอาศัยและลงทุนขอสัญชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ บริษัทฯ ก็ได้เปิดสำนักงานในชิคาโก ดัลลัส ลอสแอนเจลิส ไมอามี นครนิวยอร์ก และซานฟรานซิสโกด้วย

อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็ม 

Source : รายงานความมั่งคั่งประจำปี 2567 ชี้อเมริกายังคงเป็นศูนย์กลางความมั่งคั่งอันดับหนึ่งของโลก แต่อนาคตยังไม่แน่นอน

This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network

Share

Latest Updates

Most Viewed

Related Articles