- รายงานฉบับใหม่เผย ปัจจัยสำคัญต่อการผลิตน้ำมันพืชมิใช่พืช แต่เป็นแนวปฏิบัติ
บันดาร์ เสรี เบกาวัน, บรูไน, 14 พฤษภาคม 2567 /พีอาร์นิวส์ไวร์/ — พืชน้ำมันได้กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่กระตุ้นให้เกิดมุมมองและพาดหัวข่าวที่แบ่งเป็นฝ่าย ข้อถกเถียงเหล่านี้ครอบคลุมทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ สิทธิมนุษยชน และโภชนาการ แต่หลักฐานที่พบนั้นเผยให้เห็นอะไรบ้าง รายงานฉบับใหม่ที่จัดทำโดย Borneo Futures ซึ่งเป็นองค์กรเจ้าภาพของคณะทำงานเฉพาะกิจพืชน้ำมันประจำไอยูซีเอ็น (IUCN) ขอนำเสนอมุมมองใหม่ในประเด็นนี้
New IUCN report on the Future of Vegetable Oil – Oil crop implications – Fats, forests, forecasts, and futures
พืชน้ำมันซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 37% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังมีส่วนเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม พืชน้ำมันก็ยังถือเป็นแหล่งรายได้และโภชนาการที่สำคัญอีกด้วย และเมื่อความต้องการน้ำมันพืชทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 288 ล้านตันภายในปี 2593 ความจำเป็นในการเฟ้นหาแนวปฏิบัติด้านการผลิตที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่าพืชน้ำมันทุกชนิด แม้จะเป็นพืชที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เช่น มะกอกและมะพร้าว อาจส่งผลเสียได้เมื่อผลิตโดยไม่คำนึงถึงคนหรือธรรมชาติ แต่แทนที่จะทำให้พืชผลบางชนิดดูไม่ดี เราควรมุ่งความสนใจไปที่แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนมากกว่า
ศาสตราจารย์ Erik Meijaard ผู้เขียนรายงานและประธานร่วมของคณะทำงานเฉพาะกิจพืชน้ำมันประจำไอยูซีเอ็น กล่าวว่า "รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า พืชน้ำมันทุกชนิดให้ผลลัพธ์อันดีได้ โดยเมื่อลงทุน วางแผนและนโยบายอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงวิธีการผลิตพืชผลให้ดีขึ้นแล้ว ก็เปิดโอกาสให้พื้นที่ปลูกพืชน้ำมันลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และฟื้นฟูธรรมชาติได้"
ศาสตราจารย์ได้นำปาล์มน้ำมันมาเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการจัดการพืชผลนี้ในป่าแอฟริกาและสวนในหมู่บ้านแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เข้ามาแทนที่ป่าในเอเชียที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อไม่นำหลักปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาใช้ โดยเขากล่าวว่า "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์นั้นไม่ใช่ตัวปาล์ม แต่เป็นแนวทางในการปลูกต่างหาก"
Malika Virah-Sawmy ประธานร่วมของคณะทำงานเฉพาะกิจพืชน้ำมันประจำไอยูซีเอ็น ได้ท้าทายแนวคิดที่มองว่าพืชน้ำมันบางชนิดดีหรือไม่ดี โดยเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติด้านการผลิตมากกว่าทำให้พืชผลบางชนิดดูไม่ดี
รายงานนี้มีข้อค้นพบที่น่าประหลาดใจอยู่บ้าง โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดและมะพร้าวในปัจจุบันนั้นเปิดโอกาสสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม อย่างไรก็ตาม การกระจุกตัวของอำนาจในการค้าขายธัญพืชทั่วโลก ซึ่งมีบริษัทเพียง 4 แห่งที่ควบคุม 75-95% ของทั้งหมด ก็ก่อให้เกิดปัญหาท้าทายในเรื่องแนวปฏิบัติทางการเกษตรอย่างเสมอภาค
แม้ผลกระทบจากพืชบางชนิด เช่น ปาล์มน้ำมันและถั่วเหลือง จะเป็นที่รับรู้กันดี แต่สำหรับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่วลิสงและงานั้นยังคงมีผู้ศึกษาไม่มากพอ แม้พืชเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนก็ตาม การขาดข้อมูลนี้ย้ำความสำคัญในการสื่อสารกับประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งขั้วที่ไม่สมเหตุสมผล
ในตลาดน้ำมันที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจความซับซ้อนของการผลิตนั้นมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ตัดสินใจเลือกได้อย่างยั่งยืน รายงานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขจุดบอดที่ยังหลงเหลืออยู่ด้วย
ศาสตราจารย์ Douglas Sheil กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องเปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่ปลูกมาเป็นวิธีปลูก ซื้อขาย ทำการตลาด และบริโภค รายงานฉบับนี้เป็นความพยายามครั้งแรกของเราในการสรุปแนวปฏิบัติ ผลกระทบ มาตรฐาน และสิ่งที่ทำได้"
ในโลกที่สิ่งที่เราเลือกนั้นส่งผลต่อระบบนิเวศและชุมชนทั่วโลกไปด้วย การทำความเข้าใจความซับซ้อนของการผลิตน้ำมันพืชก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน โดยรายงานฉบับนี้ดาวน์โหลดได้ฟรี เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโลกที่ซับซ้อนของน้ำมันพืช และเรียนรู้สิ่งที่ลงมือทำได้ด้วยตนเอง
รายงานฉบับนี้ได้รับทุนสนับสนุนอย่างเป็นอิสระจาก Soremartec SA และ Soremartec Italia S.r.l., Ferrero Group โดยให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ ผลกระทบ และมาตรฐานต่าง ๆ ในการผลิตน้ำมันพืช
Source : Borneo Futures เผยรายงานฉบับใหม่ พบพืชน้ำมันจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติ
This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network